ลม (WIND)
การเปลี่ยนแปลงความกดอากาศและอุณหภูมิทำให้เกิดการเคลื่อนที่ของอากาศทั้งในทางดิ่งและทางระดับที่เราเรียกกันทั่วไปว่า ลม ซึ่งมีความสำคัญต่อการเกิดสภาพอากาศ
ปัจจัยที่เกิดการหมุนเวียนของลม
เนื่องจากการหมุนของโลกจึงทำให้พื้นโลกได้รับพลังงานความร้อนจากดวงอาทิตย์ไม่เท่ากัน เป็นสาเหตุให้เกิดระบบการหมุนเวียนของลมทั่วไป (General circulation) และปัจจัยอื่นเช่น
1. การกระจายความร้อนของพื้นดินและพื้นน้ำไม่เท่ากัน
2. ความสามารถในการถ่ายเทความร้อนของพื้นผิวโลกสู่บรรยากาศมีความแตกต่างกัน
3. ลักษณะภูมิประเทศที่แตกต่างกัน
4. การเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิประจำวัน
5. การเปลี่ยนแปลงฤดูกาล และปัจจัยอื่น ๆ
แรงที่มากระทำและเกี่ยวข้องกับลม
แรงคอริโอลิส (Coriolis force)
ขณะที่โลกมีการเคลื่อนที่จากตะวันตกไปตะวันออก เมื่อมีลมพัด หมายความว่า ความเร็วระหว่างการไหลของอากาศกับการเคลื่อนที่ของโลกไม่เท่ากันดังนั้นลมสงบ หมายถึงอากาศเคลื่อนที่ไปด้วยความเร็วเท่ากับการเคลื่อนที่ของโลก แรงนี้จะสัมพันธ์กับแรงดึงดูดของโลก ถ้าโลกไม่มีการหมุนลมจะพัดจากความกดอากาศสูงไปยังความกดอากาศต่ำโดยตรง แต่เมื่อโลกมีการหมุน อากาศที่เคลื่อนที่ไปบนพื้นโลกจะมีการเบี่ยงเบนไป หรือวัตถุใดก็ตามที่เคลื่อนที่ไปโดยอิสระจะมีการเบี่ยงเบนไปเสมอ เมื่อเปรียบเทียบกับการหมุนของโลก และถ้ามองจากจุดจุดหนึ่งที่อยู่นอกโลกจะมองเห็นสิ่งที่เคลื่อนที่นั้นเดินทางเป็นเส้นตรง แต่ถ้ามอง ณ ที่จุดใดจุดหนึ่งบนพื้นโลกจะมองเห็นเป็นเส้นโค้ง ดังนั้นแรงนี้จึงเป็นแต่เพียงแรงปรากฏให้เราเห็น แต่การเบี่ยงเบนของวัตถุที่เคลื่อนที่นั้นเป็นความจริงแรงที่ทำให้เกิดการเบี่ยงเบนนี้เราเรียกว่า แรงคอริโอลิส (The Coriolis force) ชื่อนี้ตั้งให้เป็นเกียรติแก่ผู้ค้นพบคือ G.G. CORIOLIS ซึ่งเป็นนักฟิสิกส์ ชาวฝรั่งเศสและบริเวณเส้นศูนย์สูตรค่าแรงคอริโอลิสจะมีค่าเท่าศูนย์
แรงหนีศูนย์กลาง (Centrifugal force)
แรงที่กระทำต่อเทหวัตถุในขณะที่เทหวัตถุนั้นเคลื่อนที่เป็นทางวงกลม แรงนี้มีแนวทิศออกจากจุดศูนย์กลางของทางวงกลมนั้นและมีขนาดเท่ากับแรงสู่ศูนย์กลางจากกฎความโน้มถ่วงของนิวตัน ความโน้มถ่วงของโลกที่กระทำกับมวลใด ๆจะขึ้นอยู่กับระยะทางระหว่างศูนย์กลางมวลของโลกกับศูนย์กลางมวลวัตถุยกกำลังสอง ดังนั้นแรงโน้มถ่วงของโลกบริเวณต่าง ๆ จึงมีค่าไม่เท่ากัน และเนื่องจากโลกมีการหมุนรอบตัวเองมีผลทำให้เกิดแรงหนีศูนย์กลาง แรงหนีศูนย์กลางนี้จะหักล้างกับแรงโน้มถ่วงของโลก แรงหนีศูนย์กลางจะมีค่ามากที่สุดบริเวณเส้นศูนย์สูตร และมีค่าน้อยที่สุดบริเวณขั้วโลก ผลของแรงหนีศูนย์กลางนี้ทำให้แรงโน้มถ่วงของโลกบริเวณศูนย์สูตรมีค่าน้อยกว่าแรงโน้มถ่วงของโลกบริเวณขั้วโลก นอกจากนั้นโลกก็มิได้เป็นทรงกลมโดยสมบูรณ์ แต่แป้นตรงกลางเล็กน้อย ทำให้ระยะกลางของโลกถึงพื้นผิวโลกแปรผันไปตามละติจูด
รายละเอียดต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับการตรวจวัดลม
ทิศทางลม (Wind direction) หมายถึงทิศทางที่ลมพัดเข้าหาสถานีตรวจวัด เช่น ลมฝ่ายตะวันตก หรือทิศทาง 270 องศา การเคลื่อนที่ของมวลอากาศเป็นแหล่งกำเนิดของลมผิวพื้นนั้นเกิดจากการเคลื่อนที่ของลมจากความกดอากาศสูงไปยังความกดอากาศต่ำเสมอในระยะทางสั้น ๆ จะเป็นสิ่งกำหนดทิศทางได้โดยตรงแต่ถ้าเป็นระยะทางที่ยาวและมีแรงอื่น ๆ ที่มากระทำต่อการเคลื่อนที่ดังกล่าวมีผลให้ทิศทางและความเร็วลมเปลี่ยนไป
ความเร็วลม (Wind speed) คือ อัตราการเคลื่อนที่ของอากาศบนพื้นโลก ซึ่งมีหน่วยวัดความเร็วดังนี้
ไมล์ทะเล ต่อ ชั่วโมง เรียกว่า นอต (Nautical miles per hours = Knots) เขียนย่อว่า kts
ไมล์บก ต่อ ชั่วโมง (Statute miles per hours) เขียนย่อว่า mph
กิโลเมตร ต่อ ชั่วโมง (Kilometers per hours) เขียนย่อว่า kmh
เมตร ต่อ วินาที (Meter per second) เขียนย่อว่า mps
1 นอต = 1.8 กิโลเมตร ต่อชั่วโมง 1 นอต = 1.2 ไมล์ บก ต่อชั่วโมง 1 ไมล์บก/ชม = 1.6 กิโลเมตร ต่อชั่วโมง
ลมกระโชก (Gusts) คือ ลมที่มีความเร็วเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว และมีค่าความเร็วลมสูงสุดและต่ำสุดต่างกัน 10 นอต หรือมากกว่าในช่วงเวลา 10 นาที ของการตรวจอากาศ
ลมแรง (Squalls)
1. จะต้องมีความเร็วลมสูงกว่าค่าความเร็วลมโดยเฉลี่ยอย่างน้อย 15 นอต
2. ความเร็วลมสูงสุด จะต้องเท่ากับ 20 นอต หรือมากกว่า
3. เกิดขึ้นและคงอยู่อย่างน้อย 1 นาที หรือมากกว่า
4. ส่วนใหญ่เกิดในบริเวณที่มีพายุฟ้าคะนองที่เรียงต่อกันเป็นทางยาว